วิธีการเลี้ยงแพะ และ วิธีป้องกันรักษาโรคที่เกิดกับแพะ
วันนี้บ้านน้อย มีวิธีการเลี้ยงแพะขั้นพื้นฐานสำหรับมือใหม่ และยังมีวิธีการรักษาโรคที่อาจเกิดกับแพะ มาฝากแฟนๆนะคะ การเลี้ยงแพะเบื้องต้น วิธีการรักษาโรคที่มักจะเกิดกับแพะ เลี้ยงแพะเพื่อขายเนื้อ เลี้ยงแพะสัตว์เศรษฐกิจ
เกษตรกรทุกวันนี้นิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าเพราะได้กำไรดี มีทั้งเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้หลัก และเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้เสริม หลากหลายแบบมากมายเพราะสัตว์เศรษฐกิจในประเทศไทยเราเกิดขึ้นใหม่อย่างมากเลยนะครับ และวันนี้ผู้เขียนก็มีเรื่องราวและวิธีการเลี้ยงแพะมาฝากกันครับ ติดตามเรื่องราวและเทคนิคทางด้านการเกษตรทุกรูปแบบ ได้ที่นี่ Baannoi.com
[adinserter block=”2″]
การเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรก็มีหลายแบบนะครับมีทั้งเลี้ยงเพื่อเพาะพันธ์ุขาย หรือเลี้ยงเพื่อขายเนื้อขายลูกพันธ์ุเป็นต้น สัตว์เศรษฐกิจในประเทศไทยก็เกิดขึ้นมากมาย มีทั้งแบบพันธ์ุแท้และมีทั้งแบบนำผสมเทียมเพื่อให้ได้สายพันธ์ุใหม่ที่สามารถเลี้ยงให้เข้ากับสภาพอากาศของประเทศไทยเรา เพราะประเทศไทยเรามีสภาพอากาศที่ร้อนจึงต้องเลี้ยงสัตว์ประเภทที่ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศบ้านเราได้ไม่งั้นก็จะทำให้ขาดทุนกันนะครับ
แพะถือเป็นสัตว์ที่น่าเลี้ยงน่าสนใจน่าศึกษาอีกประเภทหนึ่งนะครับ เพราะว่าสามารถเลี้ยงเพื่อขายได้ทั้งเนื้อ,นม,ขนหรือแม้กระทั่งเขา แถมราคายังดีอีกด้วย แพะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่องที่สุดในจำนวนสัตว์ชนิดที่ใกล้เคียงกันและตอนนี้ก็เป็นที่นิยมเลี้ยงกันในกลุ่มเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ มีทั้งเลี้ยงแบบเป็นรายได้เสริมและเลี้ยงแบบเป็นอาชีพหลักเปิดเป็นฟาร์มเลยก็มี เพราะแพะเป็นสัตว์ประเภทสวยงามด้วยเด็กๆเห็นก็ชอบจึงมักมีการนำเอาไปโชว์ตามงานต่างๆเพื่อให้เด็กๆได้ให้นมแพะกันนะครับ
แพะเป็นสัตว์ที่น่าจับตามองและน่าสนใจเพราะเลี้ยงไม่ยาก คุณสมบัติโดดเด่นและพิเศษหลายประการที่น่าเลี้ยงแพะมีหลายอย่างเช่น
- ให้ผลผลิตได้ทั้งเนื้อและนม
- โตเร็วให้ผลผลิตเร็วเลี้ยงไม่นานก็สามารถผสมพันธ์ุและคลอดลูกใช้เวลาในเพียงไม่กี่เดือนเลยครับ
- แพะเลี้ยงง่ายเพราะมีขนาดลำตัวที่เล็กจึงง่ายต่อการดูแลเด็กและผู้หญิงก็สามารถเลี้ยงและดูแลได้
- กินอาหารได้หลายชนิด ทั้งหญ้าและพืชผักผลไม้และสามารถหาอาหารกินเองได้
- เจริญเติบโตเร็ว สามารถผสมพันธ์ุได้เมื่อมีอายุได้แค่เพียง 8 เดือน อุ้มท้องเป็นเวลา 5 เดือน
- มีความสมบูรณ์พันธ์ุสูงสามารถคลอดลูกแฝดและใช้ระยะเวลาสั้นในการเลี้ยงลูกจึงสามารถตั้งท้องใหม่ได้เร็ว
- ที่สำคัญทนต่อสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีคือสภาพที่แล้งและสภาพอากาศร้อน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
- ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย คอกเล็กๆก็อยู่ได้สี่ห้าตัวเพราะแพะตัวเล็ก
- สามารถจำหน่ายได้เมื่อลูกแพะมีอายุได้ 3 เดือน
การเลี้ยงแพะสามารถเลี้ยงได้หลายแบบนะครับ
การเลี้ยงแบบปล่อย
คือการเลี้ยงแบบปล่อยให้แพะออกในตอนเช้าหาอาหารกินในแปลงผักในฤดูหลังเก็บเกี่ยวหรือกินหญ้าในแปลงแล้วก็ต้อนกลับเข้าคอกในตอนเที่ยง หรือว่าจะปล่อยให้ออกหาอาหารกินในตอนบ่าย แล้วต้อนกลับเข้าคอกในตอนเย็น ในแปลงผักหรือแปลงหญ้าควรมีร่มเงาหรือต้นไม้ใหญ่ไว้ให้แพะได้มีที่หลบแดดหรือฝนด้วยครับ
การเลี้ยงแบบขังคอก
คือการเลี้ยงไว้ในคอกแล้วทำรางเพื่อตัดหญ้าหรืออาหารมาให้กินในคอก หรือตัดใบไม้ต่างๆเช่น ต้นกระถิน,มะขามเทศหรือใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนำมาเลี้ยงแพะได้ ภายในคอกต้องมีน้ำและแร่ธาตุให้แพะสามารถกินได้ตลอดเวลา
การเลี้ยงแบบผสมผสานกับการปลูกพืช
โดยการเลี้ยงแพะร่วมกับการปลูกพืชหรือไร่สวนต่างๆเช่นการเลี้ยงแพะในสวนยางพาราหรือปาล์ม และมะพร้าวเป็นต้น เพื่อให้แพะได้กินวัชพืชในแปลงในสวน และก็จะได้ประโยชน์คือได้ปุ๋ยจากมูลแพะนั่นเอง ซึ่งทั้งสองอย่างเมื่อผสมผสานกันแล้วก็ทำให้สร้างรายได้ทั้งสองทางได้อีกด้วยครับ
มาดูการสร้างโรงเรือนสำหรับการเลี้ยงแพะให้ดีนั้น มีวิธีและเทคนิคในการสร้างโรงเรือนดังนี้นะครับ
- พื้นที่ตั้งคอกควรอยู่ในที่เป็นเนินน้ำไม่ท่วมขังหรือสร้างให้สูงกว่าพื้นดินตามความเหมาะสมหรือประมาณ 1-2เมตร
- บันไดทางขึ้นคอกควรทำมุมเป็นมุม 45 องศา
- พื้นคอกควรทำเป็นร่องเว้นระยะห่าง 1.5 เซนติเมตร หรือจะปูด้วยพื้นแสลทปูนก็ได้ เพื่อให้มูลหรือปัสสาวะของแพะร่วงลงมาพื้นด้านล่างได้ จะได้ทำให้พื้นของคอกแพะแห้งและมีความสะอาดตลอดเวลา
- ผนังคอกคอกสร้างแบบโปร่งให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ใช้ความสูงประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้แพะกระโดดข้ามได้
- สำหรับหลังคาโรงเรือนนั้นสามารถสร้างได้หลายแบบครับ มีทั้งแบบเพิงหมาแหงน หรือหน้าจั่วควรให้เหมาะสมกับสภาพอากาศหรือต้นทุนในการสร้างของเราครับ ควรให้หลังคาโรงเรือนสูงจากคอกประมาณ 2 เมตร จะใช้ใบจากหรือสังกะสีก็ได้ครับ
- สำหรับพื้นที่ในการเลี้ยงแพะแต่ล่ะคอกนั้น แพะแต่ละตัวต้องการพื้นที่ส่วนตัวล่ะ1-2ตารางเมตร ซึ่งแล้วแต่ขนาดตัวของแพะ สามารถแบ่งคอกในโรงเรือนได้ตามการใช้งานต่างๆเช่น คอกแม่แพะอุ้มท้อง,คอกสำหรับคลอดลูกแพะ,คอกอนุบาลแพะครับ
- รั้วคอกแพะควรสร้างด้วยไม้ไผ่หรือลวดตาข่าย ไม่ควรใช้รั้วลวดหนามน่ะครับเดี๋ยวจะทำให้แพะพลาดไปโดนได้ ให้ปักเสาปูนทุกระยะ 3-4 เมตรเพื่อความแข็งแรงของรั้ว หรือปลูกต้นกระถินสลับกับไม้ไผ่ก็ได้เพื่อความประหยัด
ภาพตัวอย่างโรงเรือนเลี้ยงแพะภาพนี้คือเลี้ยงแพะเป็น 100 ตัวขึ้นไปครับ
พันธ์ุแพะที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยเรามี 2 ประเภท คือ แพะเนื้อและแพะนม และจำแนกออกเป็นแพะพันธ์พื้นเมืองได้อีกคือ
แพะพื้นเมืองภาคเหนือ ซึ่งเป็นแพะที่มาจากประเทศอินเดียหรือประเทศปากีสถาน มีลักษณะรูปร่างที่สูงใหญ่ ขนยาวมีสีน้ำตาลเข็มปนสีขาวบ้าง
แพะพื้นเมืองภาคใต้ มีลักษณะตัวเล็กลักษณะเดียวกับแพะพื้นเมืองมาเลเซีย มีส่วนสูงประมาณ 50 ซม. และมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 20-25 กิโลกรัม
สำหรับแพะพันธ์ุต่างประเทศ กรมปศุสัตว์จะเป็นผู้นำเข้ามาเพื่อให้ชาวเกษตรกรนำไปผสมกับพันธ์พื้นเมือง เพื่อเพิ่มคุณภาพของแพะให้ได้ผลผลิตที่ดีให้ได้ทั้งเนื้อและนมของแพะให้ได้ดีขึ้นเพิ่มขึ้น มีด้วยกันหลายพันธ์ุเช่น
แพะนม ได้แก่
- พันธ์ุ ซาเนน
- พันธ์ หลาวซาน
แพะเนื้อได้แก่
- พันธ์ุ แองโกนูเบียน
- พันธ์ุ บอร์
สำหรับการที่จะเลี้ยงแพะให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้น เราต้องมีเกณฑ์ในการเลือกนะครับ
- เลือกจากพ่อแม่พันธ์ุที่มีลักษณะดี ไม่พิการ
- ไม่ควรนำพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุผสมกับลูกแพะ หรือว่าพี่น้องแพะผสมกันเองนะครับ
- เลือกพ่อพันธ์ุที่มีลักษณะตรงตามสายพันธ์ุ เช่นแพะเนื้อจะมีลักษณะรูปร่างที่ใหญ่ กล้ามเนื้อเต็มมีขาที่แข็งแรงพร้อมขึ้นทับตัวเมีย ควรคัดเลือกจากพ่อพันธ์ุที่เกิดจาก แม่แพะที่เคยได้ลูกแฝด
- ลักษณะที่ดีของแม่พันธ์ุแพะ แม่พันธ์ุควรมีรูปร่างลักษณะที่ดี ลำตัวยาว เต้านมใหญ่เท่ากันมีสองหัวนมและที่สำคัญต้องไม่อ้วนจนเกินไปนะครับ หรือว่าเป็นหมัน มีลักษณะความเป็นแม่ที่ดี
การปฏิบัติในการเลี้ยงดูพ่อพันธ์ุแพะ และแม่พันธ์ุก็ไม่ยากและไม่ง่ายเกินไปนะครับ
- สำหรับการเลี้ยงดูพ่อพันธ์ุ ก็ให้อาหารหยาบที่มีคุณภาพสูงเช่นพืชตระกูลถั่วต่างๆ
- ให้แพะได้มีการออกกำลัง เพื่อพ่อพันธ์ุแพะจะได้ร่างกายที่แข็งแรง
- พ่อพันธ์ุแพะจะเริ่มผสมพันธ์ุได้เมื่ออายุได้ 1 ปี และที่วิเศษกว่านั้นของการที่เรานำพ่อพันธ์ุต่างประเทศเพื่อมาผสมพันธ์ุกับพันธ์ุเมืองก็คือ อัตราการคุมฝูงแม่พันธ์ุ ได้ถึง 1 ต่อ 10-25 เชียวครับ
- สำหรับการเลี้ยงดูแม่พันธ์ุแพะนั้น การที่จะใช้แพะเป็นแม่พันธ์ุได้เมื่อมีอายุอยู่ที่ 8 เดือน หากแพะได้มีการผสมพันธ์ุแล้ว มีการติดสัดอดีภายใน 21 วันให้ทำการผสมพันธ์ุใหม่ และแพะจะตั้งท้องประมาณ 150 วันหรือประมาณ 5 เดือนครับ
- เมื่อแม่แพะท้องใหญ่ให้ทำการแยกคอกออกจากฝูง ลักษณะของอาการของแม่แพะใกล้คลอดจะมีให้สังเกตุ คือ เต้านมและหัวนมจะขยายใหญ่ขึ้น มีอาการหงุดหงิดตื่นเต้น เหมือนคนเลยน่ะครับ และก็บริเวณสะโพกจะมีรอยยุบเป็นหลุมเข้าไปให้เห็นอย่างชัดเจนทั้งสองข้าง มีน้ำเมือกของแม่แพะไหลออกมาจากช่องคลอด สัญชาติญาณความเป็นแม่อาจมีการคุ้ยหญ้าหรือฟางบริเวณคอกเพื่อเตรียมตัวในการคลอดของตัวเค้าเองด้วย เมื่อสังเกตุได้ดังกล่าวก็ให้แยกคอก ไปไว้ในห้องคลอดเลยน่ะครับ
- ห้องคลอดของแม่แพะที่จะคลอด ให้เตรียมฟางแห้งปูที่พื้นไว้ให้แม่แพะนอนตอนคลอด และเตรียมด้ายที่จะใช้ผูกสะดือและใบมีดโกน,ทิงเจอร์,ไอโอดีน เตรียมไว้ในคอกที่จะทำการคลอดลูกแพะให้พร้อม
- วิธีการทำคลอดแพะส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากถ้าเค้าสามารถคลอดเองได้น่ะครับ
- แพะจะคลอดลูกเมื่อถุงน้ำคร่ำแตก แพะจะคลอดลูกภายใน 1 ชั่วโมง แต่ถ้าแม่แพะเบ่งนานแล้วยังไม่คลอดให้ช่วยแม่แพะโดยการใส่ถุงมือหรือล้างมือสะอาดล้วงลูกแพะออกมา ทันทีที่ลูกแพะออกมาให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดตัวลูกแพะให้แห้งและให้เช็ดน้ำเมือกในจมูกลูกแพะออกให้หมด และทำการผูกสายสะดือลูกแพะให้ห่างจากพื้นท้อง ประมาณ 2-3 เซนติเมตรแล้วก็ทำการตัดสายสะดือ ทาด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน เป็นอันเสร็จขั้นตอนในการทำคลอดครับ
วิธีการเลี้ยงดูลูกแพะ
- ให้ลูกแพะกินนมน้ำเหลืองของแม่แพะ และปล่อยให้อยู่กับแม่แพะ 3-5 วัน(แรกคลอดจะเหมือนกับการเลี้ยงลูกด้วยนมของคนเลยครับ อันนี้ผู้เขียนแอบคิดตามน่ะครับ)
- กรณีลูกแพะนม ให้เลี้ยงลูกแพะด้วยหางนม วิธีทำคือละลายหางนม 1 ส่วนต่อน้ำ 8 ส่วน
- หลังจากลูกแพะหย่านม ให้ทำการถ่ายพยาธิ
- ช่วงฤดูหนาวควรมีไฟในคอกกกลูกแพะช่วง 1-2 สัปดาห์เพื่อให้ความอบอุ่นลูกแพะด้วยครับ
- อาหารของแพะนั้นต้องระวังเรื่องอาหารเสริม เพราะแพะเป็นสัตว์ที่มีกระเพาะหมัก มีจุลินทรีย์ย่อยอาหารและและสังเคราะห์ไวตามิน เพราะฉนั้นอาหารเสริมของแพะต้องไม่มียาปฏิชีวนะที่จะไปทำลายจุลินทรีย์ เช่นอาหารสุกรหรืออาหารไก่ ควรใช้สูตรอาการเสริมที่เป็นอาหารแพะหรือโคนมเท่านั้น แร่ธาตุควรมีห้อยไว้ในคอกให้แพะกินได้ตลอดเวลา
การให้อาหารแพะในแต่ละวันควรมีปริมาณในการให้เพื่อเพียงพอต่อความต้องการของแพะ มีดังนี้ครับ
- อาหารหยาบเช่นหญ้าสด ประมาณ 10 %ต่อน้ำหนักตัวแพะ
- อาหารข้นหรืออาหารเสริมสูตรของแพะหรือโคนม ประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวแพะ การเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิต
- น้ำสะอาดควรมีในคอกไว้ให้แพะได้กินน้ำตลอดเวลา
- การดูแลเลี้ยงแพะก็เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์ทั่วไปคือต้องให้เค้าแข็งแรง ไม่ให้มีโรคต่างๆมาทำลายสุขภาพของเค้าน่ะครับ ผู้เขียนก็ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่มักเกิดกับแพะ และวิธีป้องกันโรคของแพะดังนี้ครับ
โรคพยาธิในแพะ จะทำให้แพะไม่เจริญอาหาร น้ำหนักลดสุขภาพของแพะไม่สมบูรณ์และ โรคพยาธิบางชนิดอาจทำให้แพะท้องร่วงได้ พยาธิที่พบในตัวแพะส่วนใหญ่จะเป็นพยาธิตัวกลม,พยาธิเส้นด้าย,พยาธิตัวตึด,พยาธิใบไม้ในตับและเชื้อบิด
วิธีป้องกันการเกิดโรคพยาธิของแพะป้องกันได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ครับ
- ถ่ายพยาธิเป็นประจำตามโปรแกรม คือ ทุก4-6 สัปดาห์
- ทำความสะอาดคอกหรือโรงเรือนของแพะอย่างสม่ำเสมอเพราะแพะชอบความสะอาดพื้นคอกไม่ควรเปียกหรือชื้น
- ใช้แปลงหญ้าแบบเป็นแปลงหญ้าระบบหมุนเวียนโดยแบ่งเป็นแปลงย่อยๆ โดยการล้อมรั้วกั้นปล่อยให้แพะเข้ามากินหญ้าแต่ละแปลงเป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้วให้เปลี่ยนแปลงในการให้เค้ากินหญ้า แล้วให้ทำการตัดเล็มหญ้าเพื่อให้แสงแดดส่องฆ่าไข่และตัวอ่อนของพยาธินั่นเองครับ
- ให้กำจัดหรือทำร้ายตัวกึ่งหรือตัวนำพยาธิ เช่นตัวไรและหอยน้ำจืด
- ไม่ควรให้แพะเดินในแปลงหญ้าที่มีพื้นเปียกแฉะเพราะอาจติดพยาธิได้
โรคของแพะบางครั้งก็เกิดมาจากอาหารมีหลายโรคที่เกิดกับแพะเพราะอาหารที่เค้ากิน ผู้เขียนก็จะแยกแต่ละโรคและวิธีป้องกันดังนี้ครับ
- โรคปากเป็นแผลพุพอง อาการของโรคคือมีแผลคล้ายๆหูดรอบๆบริเวณปากรอบๆจมูกและตา วิธีรักษาคือใช้ยาม่วง เจนเชียนไวโอเลต หรือทิงเจอร์ไอโอดีนทาที่แผล วันละ1-2 ครั้ง และต้องระวังอย่าไปสัมผัสแผลโดยครงเพราะโรคนี้อาจติดต่อมาถึงคนได้และควรแยกแพะออกจากฝูงเพราะจะติดต่อไปสู่แพะตัวอื่นได้
- โรคปากและเท้าเปื่อย อาการของแพะจะมีอาการซึมมีน้ำลายไหลยืดไม่กินอาหารที่ปากและแก้มจะบวมและแดงจะมีเม็ดตุ่มใสๆเล็กตรงบริเวณตรงกลีบและเท้า ขาของแพะจะเดินกะเผลกเหมือนปวดขา วิธีการรักษาคือให้ทายาสีม่วง หรือเจนเชียนไวโอเลต วันล่ะ1 ครั้งก็พอแล้วให้ฉีดยาปฏิชีวนะป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน โรคนี้ป้องกันได้โดยการฉีดวัคฉีดป้องกันโรคมือและเท้าเปื่อยปีล่ะ2ครั้ง สำหรับกับแพะที่เข้ามาใหม่ให้ฉีดวัคซินกันโรคมือและเท้าเปื่อยให้แพะก่อน 14 วัน แล้วจึงนำเข้าสู่ฝูง
- โรคมงคล่อพิษเทียม สำหรับอาการของโรคนี้นั้นจะทำให้แพะมีอาการซูบผอม อ่อนเพลียซึมและเบื่ออาหารลำตัวซีดดีซ่าน มีไข้มีน้ำมูก ข้อขาหน้าจะบวมและมีอาการชัก โรคนี้ถ้าเป็นในแพะจะเป็นรุนแรงถึงขั้นตายได้ ได้มีการผ่าซากแพะดูเมื่อแพะเป็นโรคนี้ จะพบฝีเป็นจำนวนมากตามอวัยวะภายในต่างๆของแพะ โรคนี้ถ้าแพะเป็นแล้วรักษาได้ยากมากและยังติดต่อถึงคนได้อีกด้วย เพราะฉนั้นต้องระวังเป็นอย่างมากและต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้กับแพะ วิธีป้องกันคือกำจัดทำความสะอาดพื้นที่แพะอยู่ให้สะอาด ทำลายซากห้ามนำมารับประทานโดยเด็ดขาด ให้ทำการเจาะเลือดแพะเพื่อตรวจโรคนี้ทุกๆ 2 ปี และสำหรับแพะที่เข้ามาใหม่ควรเจาะเลือดตรวจก่อนนำเข้าฝูง
- โรคแท้งติดต่อ โรคนี้เป็นได้ยากมากและสังเกตุไม่ได้เลย จะรู้ผลว่าเป็นโรคนี้ได้แค่ดูจากผลของการตรวจเลือดเท่านั้นที่น่ากลัวคือสามารถติดต่อถึงคนได้อีกด้วยครับ วิธีป้องกันโ่รคแท้งติดต่อก็คือ ให้ทำลายแพะที่เป็นโรคนี้และตรวจโรคประจำปีทั้งแพะที่มีอยู่ และแพะที่ได้มาใหม่ครับ
- โรคไข้นม โรคนี้จะเกิดกับแพะที่กำลังจะคลอดลูกแพะ หรือหรือในระยะที่กำลังให้นมลูกแพะ สาเหตุเกิดมาจากมีแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติเฟราะถูกใช้ไปในการสร้างน้ำนมนั่นเอง อาการคือแพะจะมีอาการตื่นเต้นตกใจมาก,การทรงตัวไม่ดีกล้ามเนื้อเกร็งนอนตะแคง,ซีด,คอบิดมีอาการหอบและอ่อนเพลีย วิธีการรักษาโรคนี้คือต้องให้สัตว์แพทย์ในท้องที่ใกล้เคียงมาทำรักษาให้ได้ครับ
- โรคขาดแร่ธาตุ โรคนี้ส่วนใหญ่จะมักเกิดกับแพะตัวเมียเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก อาการที่พบได้เมือเป็นโรคนี้ก็คือ มีอาการอ่อนแอ คอเอียง,เดินหมุนตัวเป็นวงกลมและล้มตัวลงนอนตะแคงท้องอืด และตายภายใน 1-2 วันเมื่อเป็นโ่รคนี้ เพราะฉนั้นต้องระวังน่ะครับ วิธีป้องกันก็คือไม่ควรขาดการให้อาหารข้นและแร่ธาตุให้แพะเลียกิน หมั่นฉีดวิตามินและแร่ธาตุ ที่สำคัญควรตั้งหรือห้อยแร่ธาตุให้แพะเลียกินได้ตลอดเวลา
- โรคท้องอืด สาเหตุเกิดมาจากกินหญ้าอ่อนมากเกินไปหรือกินอาหารข้นที่มีโปรตีนสูงเกินจำนวน 3 %ของน้ำหนักตัว หรือเกิดจากแพะมีอาการป่วยหรือตอนนอนนอนตะแคงด้านซ้าย วิธีแก้ป้องกันและแก้ไขคือ การเจาะท้องเอาแก๊สในท้องและพยายามกระตุ้นให้แพะลุกขึ้นเดิน
การตัดแต่งกลีบแพะก็ถือเป็นเรื่องสำคัญและงานประจำในการเลี้ยงแพะเช่นกันครับ เพราะจะช่วยให้กลีบงอกเป็นปกติและช่วยทำความสะอาดสิ่งสกปรกและมูลสัตว์เข้าไปติดให้กลีบเน่า การตัดแต่งกลีบแพะควรใช้มีดที่ใช้สำหรับแต่งกลีบและมีความคมหรือกรรไกรตัดแต่งกลีบเพื่อทำการตัดแต่งกลีบน่ะครับ เวลาที่ทำการตัดแต่งควรเป็นเวลาที่มีอาการเย็นชื้นเพราะกลีบจะอ่อนตัวจะได้ตัดแต่งง่าย
วิธีตัดแต่งกลีบแพะมีดังนี้ครับ
- จับขาแพะให้แน่น โดยยกขาขึ้นทำการตัดแต่งกลีบทำให้มีลักษณะกลีบเหมือนกับตอนที่แพะเกิดใหม่ๆ ควรทำอย่างน้อยเดือนละครั้งน่ะครับ
การตัดแต่งกลีบแพะเพื่อความสะอาดของกลีบแพะ
ในการเลี้ยงแพะนอกจากเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะจะต้องศึกษาวิธีเลี้ยงแพะแล้ว สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ ต้องมีการจดบันทึกในการเลี้ยงแพะที่สำคัญต่างๆไว้ด้วย เช่น การทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์,พ่อแม่,วันที่ผสมพันธ์ุ,วันที่คลอด,น้ำหนักแรกเกิดของลูกแพะ,น้ำหนักเมื่อตอนหย่านม,น้ำหนักเมื่อขาย จดไว้เพื่อเป็นแนวทางและจะได้นำมาพัฒนาแนวทางในการแลี้ยงแพะให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดและสร้างได้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นครับ
การเลี้ยงแพะก็ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไปน่ะครับ แต่ต้องใส่ใจดูแลในเรื่องของความสะอาดและอาหารการกินของเค้าหน่อยเพราะดูแพะค่อนข้างเป็นสัตว์ที่ชอบความสะอาด แล้วเค้าก็จะแข็งแรงและไม่เป็นโรคครับ ข้อมูลที่ผู้เขียนได้นำมาเสนอท่านผู้อ่านเว็บวันนี้ก็มีตั้งแต่การคัดพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุ,วิธีการคลอด,การเลี้ยงลูกแพะ,การป้องกันและรักษาโรค เรียกได้ว่าตั้งแต่สร้างคอกหรือหาแปลงหญ้าตลอดจนถึงขั้นตอนขายเลยทีเดียวน่ะครับ และผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ ติดตามความรู้เทคนิคต่างๆด้านการเกษตรทุกชนิดได้ที่นี่ Baannoi.com
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากรายการThaikaset