การเพาะเลี้ยงปูนาในบ่อปูน เลี้ยงปูนา
ปูนา เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับเราคนไทยมาช้านานนะคะ เพราะว่าปูนาหาง่ายในสมัยก่อน และในปัจจุบันเมนูของปูนา ก็มีมากมายที่หลายๆท่านนำมาทำเป็นอาหาร ทั้งต้ม,ปี้ง,ย่าง หรือเมนูที่ผู้เขียนโปรดปรานก็จะเป็น ยำปูนาใส่มะม่วงรสแซ่บๆ เผ็ดๆ พูดมาแล้วน้ำลายไหลเลยค่ะ ปูนาทุกวันนี้ไม่ได้อยู่แต่ในนา เหมือนชื่อแล้วค่ะ
ทุกวันนี้มีการเพาะเลี้ยงปูนาไว้เป็นอาหาร และก็ทำเป็นอาชีพกันมากมาย ผู้เขียนก็เลยมีเคล็ดลับและวิธีการเลี้ยงปูนา แบบง่ายๆ วิธีการเลี้ยงปูนาในบ่อปูน หรือเลี้ยงปูนาในบ่อดิน เลี้ยงในบ้านที่มีพื้นที่น้อยๆมาฝากกันค่ะ ติดตามเคล็ดลับและวิธีการด้านการเกษตรทุกชนิด ได้ที่นี่ Baannoi.com

ปูนาผัดผงกะหรี่ รสชาติไม่แพ้ปูทะเลราคาต่างรสชาติไม่ต่างกันเลยค่ะ
ในอดีตตั้งแต่สมัยยังเด็กๆ ของผู้เขียนหรือผู้อ่านหลายท่าน ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด จะคุ้นเคยกับปูนาตัวเล็กๆ ที่พ่อแม่เก็บมาจากไร่จากสวน จากทุ่งนามาฝาก เอามาปี้งย่าง หรือเอามาดองเก็บไว้ใส่ส้มตำ ก็แซ่บน้ำตาไหลเลย คิดถึงแล้วก็นึกถึงวันวาน
ในปัจจุบันปูนาที่อยู่ในท้องนาจริงๆ ก็ยังมีให้เห็นนะคะ แต่ว่าจะน้อยกว่าแต่ก่อน นิดหน่อยเพราะว่าเจอสารเคมีจากปุ๋ยหรือเจอยาปราบศัตรูพืชบ่อยๆ ก็ลดน้อยถอยลงไปบ้าง ปัจจุบันก็มีชาวบ้านหรือเกษตรกร ที่มีพื้นที่ได้ปรับพื้นที่ทำการเพาะพันธ์ุเลี้ยงปูนา เพื่อจำหน่าย และราคาะปูนาก็น่าสนค่ะ เพราะปูนา เป็นที่ต้องการของตลาด อย่างต่อเนื่องจึงไม่เป็นที่น่าห่วง สำหรับผู้เพาะเลี้ยงว่าจะไม่มีตลาดรองรับ ทั้งขายแบบปูนาเป็นๆ หรือจะดองเป็นปูดองไปขายก็ได้ราคาเพิ่มขึ้่นอีก
สำหรับท่านที่มีพื้นที่น้อย หรืออยากลงทุนเลี้ยงปูนาแบบไม่ใช้ต้นทุนสูงมากนักและทำให้การดูแลรักษาง่ายอีกด้วยค่ะ การเลี้ยงปูนามีวิธีการเลี้ยงได้หลายวิธีด้วยกันค่ะ
การเลี้ยงปูนาในบ่อซีเมนต์เลี้ยงได้ทั้งในบ่อกลมและบ่อสี่เหลี่ยมผืนผ้า
- ข้อดีของการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ก็คือ ดูแลง่ายปูนาไม่ไต่หนีใช้พื้นที่ไม่มากมีแค่พื้นที่เล็กๆ ก็สามารถเพาะเลี้ยงได้แล้ว
การเลี้ยงปูนาในบ่อดิน
- สำหรับการเลี้ยงปูนาในบ่อดิน ค่าใช้จ่ายจะมากกว่าการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์และก็ต้องมีพื้นที่เพื่อที่จะขุดบ่อเพราะพื้นที่ในการเลี้ยงปูนาแบบบ่อดินนั้น ต้องมีอวนมุ้งตาถี่ล้อมรอบบ่อเพื่อป้องกันปูนาไต่หนี แต่ข้อสำคัญของบ่อเลี้ยงปูนาแบบในบ่อดินคือ ประมาณ 3ใน4 ของพื้นที่ของบ่อดินควรเป็นดินสูงประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้ปูนาได้ขุดรูอยู่ด้วยค่ะ ส่วนที่เป็นพื้นที่ดินนี้จะลาดเข้าหาอีกส่วนหนึ่งที่เป็นน้ำ
มาดูเคล็ดลับการเลี้ยงกันเลยนะคะ การเตรียมบ่อเลี้ยงปูนา แบบเลี้ยงในบ่อปูนกลมหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า
- สำหรับท่านที่เลี้ยงในบ่อปูนกลมหรือสี่เหลี่ยมที่มีความกว้าง 2เมตรยาว 3 เมตร สูง 1 เมตร ให้หาท่อพีวีซี จำนวน 2 ท่อ มาใส่ไว้ในบ่อเพื่อทำเป็นที่ระบายน้ำออกจากบ่อด้วยนะคะ
- ในกรณีที่ทำบ่อใหม่ให้ใส่น้ำลงไปเพื่อลดความเค็มจากปูนซีเมนต์ในบ่อแช่น้ำไว้ประมาณ 1-2 วันแล้วถ่ายน้ำออก ใส่ต้นกล้วยลงไปแช่น้ำในบ่อทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน ใส่เกลือสินเทาลงไปในบ่อด้วยก็ได้ค่ะ หรือน้ำส้มสายชูประมาณ 2-3 ถ้วย แล้วถ่ายน้ำทิ้ง
- หลังจากนั้นให้นำดินมาใส่ลงไปในบ่อปูนให้มีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร หรือใส่ได้ตามปริมาณของบ่อหรือสภาพพื้นที่ค่ะ
- ควรตั้งบ่อไว้ในที่ร่มเพราะปูนาไม่ชอบอากาศที่ร้อน ถ้าอากาศร้อนมากๆจะทำให้ปูตายได้แต่ถ้าไม่มีที่ร่มก็ให้ทำตาข่ายพรางแสงหรือหลังคาใส่ตรงบ่อ
- ใส่ท่อหรือแผ่นกระเบื้อง,อิฐบล๊อคเพื่อให้ปูจะได้มีแหล่งที่ซ่อนตัวและหลบภัยเพราะว่าปูนานั้นมีนิสัยชอบทำร้ายกันเอง
- ทำตาข่ายปิดปากบ่อเพื่อป้องกันไม่ให้ปูปีนหนี
สำหรับบ่อใหม่ให้แช่ต้นกล้วยและเกลือ20-30 วันจะเป็นการลดความเค็มของปูน(เทคนิคคล้ายๆกับการเลี้ยงกุ้งฝอย)

ใส่ดินโคลนและวางท่อหรืออิฐไว้ให้ปูได้หลบซ่อนตัว
สำหรับการเตรียมบ่อเลี้ยงปูนาในบ่อดิน
- หากท่านใดมีบ่อเก่าที่เคยใช้งานมาก่อนแล้วเช่นเคยขุดบ่อเลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาก่อนหน้านั้นก็สามารถนำมาเลี้ยงปูนาได้โดยไม่ต้องขุดบ่อใหม่ จัดการบ่อให้มีสภาพแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติมากที่สุด เช่นปลูกข้าว,ผักบุ้ง,หญ้า,จอกแหน,สาหร่าย ปูนาจะได้มีแหล่งอาหารทางธรรมชาติและก็จะได้เป็นที่หลบซ่อนของปูได้อีกด้วย
- ใส่น้ำที่ใส่ดินโคลนลงไปแล้วประมาณ 30 เซนติเมตร

บ่อนี้เป็นบ่อเดิมที่เคยใช้งานก็ทำความสะอาดแล้วก็ใส่ดินแล้วก็ปลูกพืชน้ำใส่เลียนแบบธรรมชาติก็สามารถเลี้ยงปูนาได้แล้ว

ปลูกพืชน้ำใส่เพื่อเป็นอาหารของปูและเป้นที่หลบซ่อนให้ปูนาไปในตัว
เคล็ดลับการดูแลและวิธีการเลี้ยงปูนา
- สำหรับท่านที่ต้องการคัดพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุปูนา ให้นำปูนาที่ได้มาจากแหล่งแม่น้ำธรรมชาติโดยเลือกขนาดความยาวของปูนาที่มีลำตัวประมาณ 4 เซนติเมตร คัดเอาแต่ตัวที่แข็งแรงและมีขาที่ครบสมบูรณ์มาปล่อยลงในบ่อที่เตรียมไว้ ให้ใช้ปูนาตัวผู้ 25 ตัวและปูนาตัวเมีย 25 ตัวต่อบ่อ
- การให้อาหารปูนา ให้อาหารสัปดาห์ละ 3 ครั้งอาหารที่ใช้เลี้ยงปูนาได้แก่ ข้าวสุกจะเป็นข้าวสวยหรือข้าวเหนียวก็ได้ ปลาให้สับเป็นชิ้นเล็กๆกุ้งฝอย,ผักสดเช่นผักบุ้งหรือผักกาด
- ไม่ควรให้อาหารปูมากเกินไปและต้องคอยหมั่นสังเกตุดูว่าให้อาหารแค่ไหนปูถึงจะกินหมดเพราะถ้ามีอาหารเหลือก็จะทำให้อาหารเน่าเสียได้ หากอาหารเหลือให้เก็บออกอย่าทิ้งไว้ให้เน่าคาบ่อเพราะจะทำให้ปูไม่แข็งแรงทำให้เป็นโรคได้
- การระบายน้ำนั้นต้องระบายน้ำออกจากบ่อและเปลี่ยนน้ำใหม่ประมาณ 2-3 ครั้งต่อเดือน
วิธีการเลี้ยงและดูแลปูนาที่อยู่วัยเจริญพันธ์ุและลูกปู
- ปูนาจะผสมพันธ์ุกันในช่วงฤดูฝน แม่ปู 1 ตัวจะมีไข่ประมาณ 500-700 ฟอง ดังนั้นปูนา 1 ตัวจะออกลูกได้ประมาณ 500-700 ตัว
- การเจริญพันธ์ุปูนาจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนจึงจะโตเต็มที่
- กรณีที่ลูกปูเริ่มตั้งแต่นำเลี้ยงใส่ในบ่อ ให้อาหารโดยลูกปูที่มีช่วง 15 วันแรกควรให้ไรแดง,หนอนแดง,เทา หรือไข่ตุ๋น กินเป็นอาหาร
- หลัง 15 วันให้ปลาสับหรือกุ้งฝอย,อาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงลูกปลาดุก
- เมื่อลูกปูมีอายุได้ 30 วันก็สามารถนำไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อปูนเพื่อให้มีขนาดโตเต็มวัย
- ถ้ามีเนื้อที่ ที่ทำเป็นบ่อดินหรือบ่อปูนที่มีขนาดใหญ่สามารถปล่อยลงเลี้ยงได้ทีละปริมาณ 10,000 ตัวต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร
- ปูนามีการลอกคราบเหมือนสัตว์น้ำชนิดเดียวกันเหมือนกับกับสัตว์จำพวกกุ้งหรือปูชนิดอื่น หลังจากฟักเป็นตัวแล้วปูนาจะทำการลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้ง ก็จะโตเป็นปูนาเต็มวัย สามารถได้ขนาดตามที่ท้องตลาดต้องการระยะเวลาก็จะอยู่ประมาณ 6-8 เดือนขึ้นไป
แม่ปูกำลังมีไข่เต็มท้อง แม่ปูตัวหนึ่งสามารถมีลูกปูได้มากถึง 500-700 ตัว

ปูนาตามแหล่งธรรมชาติตัวเล็กตัวใหญ่สามารถคัดมาเลี้ยงตอนเป็นลูกปู ตัวใหญ่ก็คัดแยกมาเป็นแม่พันธ์ุได้
วิธีการสังเกตการลอกคราบของปูนา
- ปูนาที่จะมีการลอกคราบให้เราสังเกตได้จากรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองจะกว้างมากกว่าปกติ เมื่อใกล้จะลอกคราบปูจะนิ่งและเหยียดขาออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองก็จะเปิดออก
- ส่วนท้ายพร้อมกับขาเดินคู่สุดท้ายของปูนาจะออกมาก่อนส่วนอื่นๆ ขาคู่ถัดมาจะค่อยๆโผล่ออกมาตามลำดับส่วนก้ามคู่แรกจะโผล่ออกมาเป็นอันดับสุดท้าย ปูนาจะใช้ระยะเวลาในการลอกคราบโดยประมาณ 1 ชั่วโมง
การเลี้ยงปูนาก็จะมีเคล็ดลับหรือว่าวิธีการเลี้ยงคล้ายๆกันกับการเลี้ยงกุ้งฝอยหรือกุ้งก้ามแดงนะคะ การดูแลการให้อาหารคล้ายๆกันถ้าท่านไหนมีพื้นที่ หรือว่าสนใจจะทำเป็นกิจกรรมวันว่างหรืองานอดิเรกก็ลองศึกษาและก็หาพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุหรือว่าลูกปูนามาเลี้ยงดูนะคะ ราคาของปูนาก็เป็นที่น่าสนใจพอใช้ได้
ต้นทุนในการเลี้ยงก็ไม่สูงการดูแลก็ไม่ยุ่งยากหากแต่ว่าต้องให้ความใส่ใจเค้าหน่อยเท่านั้นเอง ไม่แน่นะคะเผื่อลองเลี้ยงเป็นงานอดิเรกแล้วอาจติดใจในการสร้างรายได้เสริมกับการเลี้ยงปูนาหันมาทำเป็นอาชีพหลักก็เป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อย ติดตามเคล็บลับและวิธีการด้านการเกษตรทุกชนิด ได้ที่นี่ Baannoi.com