วิธีการเลี้ยงปลาหมอนา และ วิธีการทำบ่อเลี้ยงปลาหมอ

213

การเลี้ยงปลาหมอนา

ปลาหมอนาหรือปลาเข็ง(ผู้เขียนเคยเรียกมาตั้งแต่เด็กๆค่ะ)เป็นปลาที่มีรสมันเนื้อหวานนุ่ม ยิ่งเผาแบบบ้านๆใส่เกลือยิ่งรสชาติหวานมากเลยค่ะและตอนนี้อาชีพเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลาหมอนา ก็เป็นอาชีพที่สร้างรายได้งดงามทีเดียวผู้เขียนก็ได้ความรู้และเทคนิคในการเลี้ยงปลาหมอนามาฝากกัน อีกทั้งยังมีวิธีการอนุบาลปลาหมอ,วิธีผสมพันธ์ุปลาหมอและก็มีวิธีการทำบ่อเลี้ยงปลาหมอนามาฝากอีกด้วย ติดตามเคล็ดลับและวิธีการต่างๆด้านการเกษตรทุกรูปแบบได้ที่นี่ Baannoi.com

ปลาหมอนาเป็นปลาที่มีรสมันและหวานเนื้อแน่นก้างน้อย จึงเป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กและก็ผู้ใหญ่หลายๆท่านทำอาหารก็ได้ทุกประเภทน่ะค่ะไม่ว่าจะเผาหรือย่างใส่เกลือเฉยๆก็ยังอร่อยเลยค่ะ ไหนจะทำเป็นเมนูอย่างอื่นไม่ว่าจะผัดจะต้มจะยำทำแกงก็ได้ทั้งนั้น

ราคาของปลาหมอนาก็น่าสนใจสำหรับท่านที่เพาะเลี้ยง ตัวที่ได้น้ำหนักพร้อมจำหน่ายก็จะประมาณ 3 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาขายก็อยู่ประมาณกิโลกรัมละ 100-150 บาทแล้วแต่ตลาดในแต่ละพื้นที่และก็แล้วแต่ฤดูกาลของปลาอีกด้วย ปลาหมอนาเป็นที่น่าสนใจสำหรับการสร้างรายได้เลยล่ะค่ะ ผู้เขียนก็เลยอยากแนะนำสำหรับท่านที่ต้องการเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่ายหรือเพื่อบริโภค เพราะว่าปลาหมอเป็นปลาที่ทนและอึดสามารถอยู่ในที่ที่มีน้ำน้อยๆหรือแม้กระทั่งไม่มีน้ำเลยปลาหมอยังสามารถทนอยู่ได้นานกว่าปลาชนิดอื่นหลายเท่าเลยทีเดียว

[adinserter block=”2″]

การเพาะเลี้ยงปลาหมอเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาช้านานแล้วน่ะค่ะมีทั้งเลี้ยงในอ่างหรือบ่อซีเมนต์หรือเลี้ยงในนาข้าว เพราะว่าปลาหมอสามารถเลี้ยงรวมกันกับปลาชนิดอื่นๆได้ ปลาหมอนามีตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปในห้วยในคลองหรือในแม่น้ำตามพื้นที่ต่างๆปลาหมอเป็นปลาที่วางไข่ได้ทีละจำนวนมากและในการเจริญเติบโตก็ใช้เวลาไม่นานเพียงไม่กี่เดือนก็สามารถนำมาบริโภคหรือจำหน่ายได้แล้ว และสำหรับในแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆที่ชาวบ้านไปตกปลาหรือหว่านแหได้ปลาหมอตัวเล็กๆมาก็สามารถนำเพาะเลี้ยงให้โตได้หรือจะทำเป็นอาหารแบบไซค์เล็กๆก็อร่อยค่ะ ผู้เขียนเคยทานปลาหมอตัวเล็กๆที่เพื่อนๆไปหว่านแหมาได้ ทำแบบไม่ต้องเอาเกร็ดออกแค่แผ่กลางตัวปลาหมอแล้วก็ตำตะไคร้ใส่กระเทียมคลุกทอดเลย รสชาติทั้งกรอบทั้งอร่อยเลยค่ะ

วันนี้ผู้เขียนมีเทคนิคและวิธีเลี้ยงปลาหมอนามาฝาก ตั้งแต่การเตรียมบ่อแบบประหยัดงบแต่ได้ผลกำไรที่งดงาม และก็วิธีคัดพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุปลาหมอนา,ขั้นตอนการผสมพันธ์ุปลาหมอนา,ตลอดจนการดูแลรักษาในการเลี้ยงปลาหมอนาและก็อีกวิธีหนึ่งก็คือการอนุบาลลูกปลาหมออีกด้วยค่ะ เรียกได้ว่าครบทุกขั้นตอนเลยทีเดียว ขั้นตอนแรกเราก็มาดูวิธีการทำบ่อสำหรับเพาะเลี้ยงก่อนน่ะค่ะ

การเตรียมบ่อ ในการเลี้ยงปลาหมอนาต้องมีบ่อเพื่อใช้เลี้ยงอย่างน้อย 3 บ่อขึ้นไปค่ะ

  • บ่อสำหรับอนุบาลลูกปลาหมอนา 
  • บ่อเพื่อผสมพันธ์ุปลาหมอนา
  • บ่อเลี้ยงปลาหมอนาเพื่อการเจริญเติบโตและพร้อมจำหน่าย

ทุกบ่อควรมีขนาด 6×7 เมตร และบ่อควรเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า วิธีทำบ่อเลี้ยงปลาหมอนาแบบประหยัดแต่ใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ได้จริงมาดูอุปกรณ์และขั้นตอนการทำเลยน่ะค่ะ

อุปกรณ์ในการทำบ่อเลี้ยงปลาหมอนา

  1. กระเบื้องมุงหลังคา 6 แผ่น (หาจากวัสดุเหลือใช้ภายในบ้านในสวนก็ได้ค่ะถ้าไม่อยากไปซื้อใหม่)
  2. ไม้ไผ่ผ่าซีก ประมาณ 30-40 ชิ้น
  3. แผ่นยางพลาสติกดำ ขนาด 2×4 เมตร (เลือกแบบหนาน่ะค่ะ)

ขั้นตอนและวิธีการทำ

  • วางแผ่นกระเบื้องในแนวตั้ง ประกอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ข้างละ 2 แผ่น
  • ใช้ไม้ไผ่ผ่าซึกวางทาบกับผนังแผ่นกระเบื้องโดยตอกไม้ไผ่ลงดิน เพื่อใช้เป็นตัวยึดแผ่นกระเบื้องทั้งหมด ข้างละ 8-10 อัน
  • นำแผ่นพลาสติกดำมาวางตรงกลางที่กระเบื้องจัดทรงบ่อไว้ จัดมุมด้านล่างบ่อและจับมุมทั้งสี่ให้พับหรือยึดติดกับไม้ไผ่หรือกระเบื้องไว้ให้แน่น เพื่อป้องกันแผ่นพลาสติกหลุดเมื่อเราใส่น้ำค่ะ
  • จับมุมพลาสติกดำเรียบร้อยให้เปิดน้ำเข้าบ่อ แล้วใส่ดินลงไปเล็กน้อยหาผักพืชน้ำมาลงเพื่อเพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำ พักทิ้งไว้ 1 คืน

บ่อเลี้ยงปลาหมอนา

เท่านี้ก็สามารถนำลูกปลาหมอลงปล่อยได้แล้วค่ะ บ่อขนาดนี้สามารถจะหรือเลี้ยงลูกปลาหมอได้มากถึง 500 ตัวเชียวค่ะ

 

เคล็ดลับเพิ่มเติมหากระสอบทรายมาช่วยพยุงกระเบื้องรอบๆบ่อเพื่อความทนทานค่ะ

ปลาหมอนา เราก็สามารถหาได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้บ้านหรือสั่งซื้อกับชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลามาขายตามตลาดต่างๆ ถ้าได้ตัวใหญ่ก็เอามาคัดเลือกเป็นพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุเพื่อขยายพันธ์ุเลย เพราะว่าปลาหมอนั้นวางไข่ได้จำนวนเยอะมาก 

การเพาะเลี้ยงปลาหมอนา

หาได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติตามคลองน้ำไหลผ่านตามทุ่งนาต่างๆปลาหมอนาแท้ๆแน่นอนค่ะ

เมื่อเราได้บ่อไว้สำหรับเพาะเลี้ยงแล้วก็หาปลาหมอนามาเพาะเลี้ยงกันเลยค่ะ หาจากแหล่งธรรมชาติหรือหาซื้อจากพ่อค้าแม่ค้าแล้วมาคัดเอาว่าจะเอาตัวไหนมาเป็นพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุต่อไป วิธีการคัดเลือกพ่อพันธ์ุ-แม่พันธ์ุปลาหมอนาก็ง่ายๆค่ะมีวิธีการดุและเลือกดังนี้ค่ะ

การเลี้ยงปลาหมอนา

การคัดแม่พันธ์ุปลาหมอนา

  • แม่พันธ์ุปลาหมอนาควรมีขนาดตัวประมาณ 3 นิ้วลักษณะตัวป้อมสั้น
  • ช่วงเวลาที่ควรแก่การคัดแม่พันธ์ุให้คัดตอนช่วงเช้า คัดหลังการถ่ายน้ำและก่อนการให้อาหาร
  • แม่พันธ์ุที่พร้อมเป็นแม่พันธ์ุ ท้องจะมีลักษณะบวมเปล่งแสดงว่ามีไข่ และอวัยวะเพศมีสีแดงชมพูเรื่อ

การคัดพ่อพันธ์ุปลาหมอ

  • พ่อพันธ์ุปลาหมอควรมีขนาดตัวประมาณ 3 นิ้วขึ้นไปลักษณะตัวเรียวยาว แข็งแรง ว่ายน้ำปราดเปรียว
  • ช่วงเวลาที่คัดคือช่วงเดียวกันกับแม่พันธ์ุคือช่วงเช้าก่อนการให้อาหารและหลังจากการถ่ายน้ำ
  • พ่อพันธ์ุปลาหมอนาที่พร้อมในการผสมพันธ์ุที่บริเวณปลายหัวจะออกเป็นสีแดง เกล็ดนวลเงาไม่มีบาดแผล

เมื่อคัดได้ทั้งพ่อพันธ์ุและแม่พันธ์ุปลาหมอนาที่พร้อมจะผสมพันธ์ุแล้วเราก็มาดูขั้นตอนและวิธีการในการผสมพันธ์ุหรือเพาะพันธ์ุปลาหมอนากันเลยค่ะ

  • ต้องทำการผสมพันธ์ุปลาหมอนาในช่วงฤดูฝน หรือช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม โดยเฉพาะช่วงฝนตกใหม่ๆ
  • ในบ่อที่จะทำการผสมพันธ์ุปลาหมอนา ให้ใส่น้ำสูง 50-60 เซนติเมตร และควรใส่ผักพืชน้ำเช่นผักบุ้งเป็นต้นเพื่อให้ปลาหมอนาใช้เป็นที่กำบังและซ่อนตัวเวลาฟักไข่
  • จำนวนพ่อพันธ์ุและแม่พันธ์ุต่อบ่อ ให้นำแม่พันธ์ุปลาหมอนา 100 ตัว ต่อพ่อพันธ์ุปลาหมอนา 50 ตัว  ต่อหนึ่งบ่อค่ะ หรือให้คิดจากอัตราส่วน แม่พันธ์ุ 2 ตัว ต่อพ่อพันธ์ุ 1 ตัวค่ะ
  • ปล่อยทิ้งไว้ในบ่อให้ทำปลาหมอนาได้ทำการผสมพันธ์ุประมาณ 3 สัปดาห์
  • หลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์แล้วให้ตักแยกพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุออกจากบ่อให้เหลือไว้แค่ลูกพันธ์ุปลาหมอนาที่ลูกปลายังอยู่กันแบบรวมกลุ่มหรือเรียกอีกอย่างว่าปลาลูกคอก

เมื่อได้ลูกพันธุ์ปลาหมอมาแล้วเราก็มาดูวิธีดูแล หรือ อนุบาลลูกปลาหมอ กันต่อเลยค่ะ

  • การอนุบาลลูกปลาบ่อทำในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ก็ได้ ให้มีระดับน้ำ 50 เซนติเมตร หากเพาะเลี้ยงในบ่อดินจะสะดวกกว่าบ่อซีเมนต์เพราะสามารถเลี้ยงได้จำนวนลูกปลาที่มากกว่าและก็มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ค่ะ หากทำในบ่อซีเมนต์คือในกรณีที่อนุบาลลูกปลาที่มีจำนวนไม่มากเท่านั้นค่ะ
  • ลูกปลาหมอนาที่ฟักออกจากไข่จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 1.9มิลลิเมตร หน้าท้องมีถุงอาหารขนาดใหญ่ที่เป็นอาหารสำรองหลังฟักตัวแล้วจะยุบตัวประมาณ 3 วัน ซึ่งระยะ 3 วันนี้ลูกปลาหมอนาจะยังไม่กินอาหารมาก ไม่ควรให้อาหารเยอะจนเกินไป
  • การอนุบาลในบ่อดินให้ผสมปลาป่นกับรำละเอียดอย่างละ 3 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อช่วยสร้างห่วงโซ่อาหารธรรมชาติเช่นแพลงก์ตอนสัตว์
  • บ่อที่อนุบาลลูกปลาหมอควรมีหลังคาป้องกันแสงแดด และให้ใส่พืชน้ำเช่นผักบุ้งเป็นต้นลงไปในบ่อด้วย

เลี้ยงปลาหมอนา

วิธีการดูแลรักษา สำหรับบ่อที่เลี้ยงปลาหมอนา

  • หากเลี้ยงในปริมาณที่มากๆให้ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือดูตามสภาพน้ำ
  • อาหารควรให้ช่วงเช้าทุกวัน อาหารที่ใช้เลี้ยงใช้อาหารเม็ดที่เลี้ยงปลาดุกเล็กร่วมกับอาหารเสริมชนิดอื่นๆ เช่น ไรแดง ปลวก รำข้าว

ปัจจุบันการจำหน่ายปลาหมอมีทั้งแบบจำหน่ายเป็นขนาดลูกปลาหมอนา เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อ หากเราเพาะเลี้ยงได้เองก็ให้คัดลูกปลาหมอนาที่มีขนาดตัวประมาณปลายปากกาหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ปลาขนาดใบมะขามนั่นเอง ราคากลางก็จะอยู่ประมาณตัวล่ะ1บาทค่ะ หากเลี้ยงขายเป็นปลาตอนโตเต็มที่ให้ได้ขนาดตัว 3-6ตัวต่อกิโลกรัม ราคากลางอยู่ที่ 100-150 บาท

หากท่านไหนสนใจที่จะเพาะเลี้ยงปลาหมอนา ก็ลองศึกษาดูน่ะค่ะและก็ดูตามพื้นที่่ที่่จะทำการเลี้ยงว่าเหมาะที่จะเลี้ยงแบบไหน ปลาหมอทนอึดเลี้ยงง่ายแต่ทางที่ดีก็ไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น และหากทำบ่อดังตัวอย่างข้างต้นก็แนะนะให้หากระสอบทรายหนุนไม่ให้บ่อล้มและก็ควรวางไว้ตรงขอบบ่ออีกชั้น เพราะปลาบ่อค่อนข้างดื้อและปีนเก่ง แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปที่จะเพาะเลี้ยงน่ะค่ะไม่ว่าจะหาลูกปลาหมอนาตอนเล็กๆมาอนุบาลหรือหาพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุมาเพาะเพื่อจำหน่ายลูกปลาหมอต่อก็ล้วนแล้วแต่สร้างรายได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความใส่ใจดูแลและทำแล้วไม่ท้อก่อนค่ะ หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านน่ะค่ะ ติดตามเทคนิคและวิธีการต่างๆด้านการเกษตรทุกชนิดได้ที่นี่ Baannoi.com

cr.ข้อมูลรูปภาพจากศูนย์รวมความรู้ด้านการเกษตร