กฎหมายกัญชา ล่าสุด จำกัดการ ปลูกกัญชา ครอบครัวละไม่เกิน 10 ต้น
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ได้มีการประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้กัญชา เป็น สมุนไพรควบคุม จำกัดอายุผู้ครอบครอง หลังจากนั้น กฏหมายกัญชา ล่าสุด ( วันที่ 20 มิ.ย. 65 ) มีมติ จำกัดการ ปลูกกัญชา ได้ครอบครัวละไม่เกิน 10 ต้น ส่วนที่ปลูกเชิงพาณิชย์ ต้องมีเงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการปลูก
นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายกัญชา หรือ พ.ร.บ. กัญชา กัญชง แถลงถึงการประชุมกมธ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา ในช่วงสุญญากาศที่ยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ ขอบคุณสื่อมวลชนและสถานศึกษาที่ร่วมทำความเข้าใจเรื่องการใช้กัญชาที่ห้ามใช้ในเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ตามที่ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการใช้สอดรับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนและสถานศึกษาคลายกังวล
ขณะนี้มีการเข้าถึงแอพลิเคชั่นและเว็บไซต์ “ปลูกกัญ”กว่า 39ล้านครั้ง มีผู้จดแจ้งขอปลูกไม่น้อยกว่า 9แสนราย โดยกมธ.เสียงข้างมากวางหลักการ
และ กรอบการปลูกกัญชาในครัวเรือนนั้นให้ปลูกได้ไม่เกิน 10 ต้นต่อครัวเรือน มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรายเล็กๆได้ประโยชน์สูงสุดจากพ.ร.บ.กัญชา และลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
การปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น กมธ. กำหนดการปลูกเป็น 3กลุ่ม
1.กลุ่มขนาดเล็ก ปลูกไม่เกิน 5 ไร่ จะเสียค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด หรือไม่ควรไม่มีเลย
2.กลุ่มขนาดกลาง ปลูก 5-20 ไร่ จะมีขั้นตอนการขออนุญาตเพิ่มขึ้นมาพอประมาณ
3.กลุ่มขนาดใหญ่ ปลูกมากกว่า 20 ไร่ขึ้นไป เป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่หวังผลทางธุรกิจ จึงต้องมีผลตอบแทนให้รัฐมากขึ้น
ส่วนของการปลูกกัญชาของสถานพยาบาลเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จะได้รับการคุ้มครองการปลูกเพื่อการแพทย์ในสถานพยาบาล โดยสามารถปลูกเพื่อผลิตตำรับยาของสถานพยาบาลได้ไม่เกิน 5 ไร่
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการก็ส่งผลกระทบต่อสังคมตามมาได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการเพื่อควบคุมใช้กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น หากต้องการเปิดให้มีการเสพหรือบริโภค ต้องมีมาตรการ 7 ข้อ
1. เก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราสูง นำเงินไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพและให้ความรู้ประชาชน
2. ต้องกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อหรือเสพกัญชา 25 ปีขึ้นไป
3. ห้ามโฆษณาใดๆ ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากกัญชาที่มีผลเสียต่อสุขภาพ
4. กำหนดให้มีคำเตือนถึงภัยและผลกระทบ เผยแพร่ข้อมูลประโยชน์และโทษของกัญชา
5. บังคับให้ผู้ประกอบการหรือผู้ขายต้องเปิดเผยส่วนผสมของกัญชาในอาหาร หรือเครื่องดื่ม อย่างชัดเจน
6. กำหนดพื้นที่และเวลาสำหรับเป็นเขตปลอดกัญชา
7. จำกัดการนำเข้าและส่งออกกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา ยกเว้นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการผลิตยารักษาโรคเท่านั้น
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปลดล็อคกัญชาที่ส่งผลกระทบหลายมิติ ว่า สิ่งสำคัญที่สุดต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมีทั้งวิกฤติและโอกาสเสมอ แต่รัฐบาลมุ่งหวังที่จะให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ จากที่มีมติ ครม. เห็นชอบด้วยกัน แต่ก็ต้องเตือนสำหรับผู้ที่ไม่เคยลองใช้ ถ้าไม่เคยลองใช้ก็อย่าไปใช้ อย่าไปสูบ เเละต้องเตือนว่าจะมีผลต่อสมองอย่างไร ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ.กัญชา ออกแล้วจะมีบทลงโทษตามมา อีกทั้งต้องมองผลดี เพื่อช่างน้ำหนักด้วย
ทั้งนี้ กมธ.ขอขอบคุณทุกสถานศึกษาที่ช่วยกันทำความเข้าใจ ในการระมัดระวังการใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชน ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และร่างกฎหมายมีเจตนารมณ์ในการควบคุมการใช้กัญชาอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และเตรียมยกร่างบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในกฎหมาย จึงขอสังคมไม่ต้องเป็นกังวล ในการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน
ดังนั้น ใครคิดว่า กัญชาปลดล็อก กัญชาเสรี แล้วจะทำการใดๆ ก็ต้องศึกษาด้วยนะคะ เพื่อจะไม่ทำผิดกฎหมาย ทุกอย่างมีทั้งวิกฤติและโอกาส เหมือนอย่างที่ท่านนายกได้กล่าวไว้ ก็จริงค่ะ ส่วนเยาวชนที่ทำไปด้วยความคึกคะนองนั้น ก็อย่าไปริไปลองกันเลยนะคะ
กัญชา เพื่อ การแพทย์ ก็ต้องศึกษาว่าใครใช้ได้ ใครใช้ไม่ได้ ใครไม่เคยลอง ก็อย่าไปลอง เพราะอาจจะเป็นอันตรายได้ ส่วนใครที่ลงทะเบียนปลูกไว้ 100 – 200 ต้น ถ้าไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ หรือขออนุญาติให้ชัดเจน ก็จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายได้นะคะ กัญชากัญชง ไม่เพียงมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ ยิ่งมีการปลูกทางเศรษฐกิจมาก ก็ต้องมีขั้นตอนและวิธีการมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลข่าวสาร จากสื่อออนไลน์ต่างๆทางอินเทอร์เน็ต เพื่อสื่อให้ประชาชน ได้ทำความเข้าใจ ในการที่จะปลูกกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน และ เพื่อทำเป็นธุรกิจ